ขนบธรรมเนียม
ชีวิตในเกาหลีและมารยาทเบื้องต้น
1. การทักทายและการบอก ขอบคุณ เป็นเรื่องสำคัญมากของคนเกาหลี คนเกาหลีมักกล่าวคำทักทายและขอบคุณพร้อมก้มหัวคำนับเสมอ โค้งต่ำระดับไหนนั้นขึ้นอยู่กับความอาวุโสของผู้พูดทั้ง 2 ฝ่าย
2. คนเกาหลีไม่นิยมการแสดงออกโดยเปิดเผยและมักจะจำกัดการถูกเนื้อต้องตัวเพียงแค่การจับมือทักทายกันอย่างสุภาพ อย่างไรก็ตามถ้ารู้จักคนเกาหลีดีขึ้นจะเกิดความคุ้นเคยกันเพิ่มขึ้น ชาวต่างชาติอาจแปลกใจที่เป็นผู้ชายโดยเฉพาะชายหนุ่มเดินตามถนนจับมือโอบไหล่กัน หรือผู้หญิงเดินจับมือกันการสัมผัสร่างกายเพื่อนสนิทขณะที่คุยกันถือว่ายอมรับกันได้ในประเทศเกาหลี แต่การแสดงความรักระหว่างเพศในที่สาธารณะ เช่น กอดและจูบถือว่าไม่สมควร
3. สุขาสาธารณะสะอาดมีอยู่ทั่วประเทศเกาหลี และสามารถใช้ห้องสุขาในอาคารสำนักงาน โรงแรม ร้านค้า หรือภัตตาคาร
4. ตามประเพณีดั้งเดิมคนเกาหลีนั่งรับประทาน และนอนบนพื้น ดังนั้น จึงควรถอดรองเท้าเสมอ ก่อนเข้าบ้านของคนเกาหลี เมื่อท่านไปเยี่ยมครอบครัวคนเกาหลีที่บ้านท่านควรสวมถุงเท้าหรือถุงน่อง เพราะการนั่งเท้าเปล่าต่อหน้าผู้มีอายุสูงกว่าถือว่าไม่สุภาพ
5. คนเกาหลีไม่ค่อยนิยม แชร์ค่าอาหารกัน ยกเว้นในกรณีพิเศษ ท่านควรเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ที่จะเป็นเจ้าภาพหรือไม่ก็เป็นแขก
6. ตามประเพณีการพูดคุยกันระหว่างมื้ออาหารมากเกินไปถือว่าไม่สุภาพ คนเกาหลีน้อมรับคำชมเกี่ยวกับรสชาติอาหาร และการบริการ การสั่งน้ำมูกในโต๊ะอาหารถือว่าไม่สุภาพ
7.ในบทสนทนาทำความรู้จักของคนเกาหลี มักจะมีคำถามเรื่องส่วนตัวสำหรับคนไทย เช่น อายุเท่าไร มีแฟนหรือยัง มาเกาหลีแล้วพ่อแม่ละอยู่กับใคร ซึ่งทั้งนี้การที่คนเกาหลีตั้งคำถามส่วนตัว เหตุผลหลักไม่ได้ต้องการระราบระล้วงแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นวัฒนธรรมในการทำความคุ้นเคยแบบพี่น้องหรือการใช้ภาษาในการพูดระดับทางสังคมได้ถูกต้อง เพราะในภาษาเกาหลีนั้นผู้ที่มีอายุก่อนหรือหลังถูกแบ่งไว้อย่าชัดเจน
การเคารพผู้มีอาวุโส
โครงสร้างทางสังคมแบบขงจื้อที่มีมานานยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น ถึงแม้ว่าเราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านนี้บ้าง วัยวุฒิและอาวุโสยังมีความหมายมากและผู้เยาว์จะต้องเคารพคำสั่งของผู้อาวุโสโดยปราศจากข้อโต้แย้ง ดังนั้นบ่อยครั้งเราจะถูกถามว่าอายุเท่าใด และถามถึงสถานภาพทางการสมรส (เป็นที่น่าแปลกอยู่ทีเดียวที่ไม่ว่าเราจะอายุมากเพียงใด เราจะไม่ถือเป็นผู้ใหญ่หากเรายังไม่สมรส อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ยึดถือกันในแต่ละครอบครัว) เพื่อจะคะเนถูกถึงความอาวุโสของเราต่อผู้อื่น อย่างไรก็ตามการที่ถูกถามก็มิได้หมายความว่าผู้ถามต้องการล่วงล้ำเข้ามาในโลกส่วนตัวของเรา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนั้นหากเราไม่ต้องการ
ชื่อ
ชาวเกาหลีส่วนใหญ่จะมีชื่อสกุลจำกัดอยู่ในไม่กี่กลุ่มชื่อ เช่น 21% จะมีชื่อสกุลว่า คิม 14% จะมีชื่อสกุลว่า ยี, ลี หรือ รี 8% มีชื่อสกุลว่า ปาร์ค นอกจากนั้นก็มีชื่อสกุลแตกออกไปอีกเช่น ชอย (หรือ แช) เจิง (หรือ ชุง) จาง (หรือ ชาง) ฮัน , ลิม เป็นต้น ชื่อเต็มของชาวเกาหลีก็จะประกอบด้วย ชื่อสกุล 1 พยางค์และชื่อหน้า 2 พยางค์ ชื่อสกุลจะเขียนก่อน สตรีชาวเกาหลีจะไม่เปลี่ยนชื่อสกุลตามคู่สมรส แต่บุตรและธิดาจะใช้ชื่อสกุลของบิดา
การสมรส
ชาวเกาหลีถือว่าการสมรสนั้นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิต และการหย่าร้างถือว่าเป็นความตกต่ำเสียชื่อเสียงไม่เพียงแต่สำหรับคู่สมรสเท่านั้น แต่รวมไปถึงครอบครัวเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม อัตราหย่าร้างในปัจจุบันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเร็วพอควร
การประกอบพิธีสมรสในปัจจุบันแตกต่างไปจากในสมัยโบราณ นั่นคือในปัจจุบันนี้พิธีจะเริ่มด้วยแบบทางตะวันตก นั่นคือมีการสวมชุดวิวาห์สีขาวสำหรับเจ้าสาวและทัคซีโดสำหรับเจ้าบ่าว โดยประกอบพิธีในห้องจัดพิธีวิวาห์ หรือในโบสถ์ ต่อมาช่วงบ่ายจะมีพิธีแบบดั้งเดิมในสถานที่ใหม่ด้วยชุดวิวาห์ที่มีสีสันงดงาม
เจเย (พิธีเคารพบูชาบรรพบุรุษ)
ตามหลักความเชื่อดั้งเดิมของเกาหลีนั้น เมื่อบุคคลหนึ่งสิ้นชีวิตลง วิญญาณของเขายังไม่ไปไหน แต่ยังวนเวียนอยู่ใกล้เป็นเวลากว่า 4 ชั่วคนทีเดียว ในช่วงเวลาอันยาวนานนี้ผู้ตายยังถูกถือว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวความสัมพันธ์อันนี้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยพิธีเจเย ซึ่งจัดขึ้นในวันพิเศษต่างๆ เช่น ซอลัล และชูซก รวมทั้งวันครบรอบวันเสียชีวิตของบรรพบุรุษเหล่านั้น ชาวเกาหลีเชื่อว่าการที่เขามีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขนั้นก็ด้วยพรอันประเสริฐซึ่งบรรพบุรุษให้ไว้นั่นเอง
ภาษากาย
เมื่อต้องการกวักมือเรียกผู้อื่นนั้น ควรคว่ำมือลงและกวักนิ้วเรียกโดยใช้นิ้วชิดกัน การกวักมือเรียกโดยหงายฝ่ามือขึ้นนั้นไม่สุภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้นิ้วกวักเรียก เพราะถือเป็นกิริยาเรียกสุนัข สำหรับชาวเกาหลี
ฮันบก
ฮันบกเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติเกาหลีมาเป็นเวลาพัน ๆ ปีมาแล้ว ความงามและความอ่อนช้อยของวัฒนธรรมเกาหลีจะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทางภาพถ่ายของสุภาพสตรีในเครื่องแต่งกายฮันบกนี้ ก่อนที่วัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตกจะได้เข้ามาในเกาหลีเมื่อร้อยปีมาแล้วนั้น หญิงชาวเกาหลีจะสวมชุดฮันบกเป็นปกติทุกวัน ส่วนสุภาพบุรุษจะสวมชอโกรี (เสื้อนอกแบบเกาหลี) และพาจิ (กางเกงขายาว) ในขณะที่สุภาพสตรีสวมชอกอรีและชีมา (กระโปรง) ในปัจจุบันชุดประจำชาติฮันบก จะใช้สวมเฉพาะในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส วันซอลลัล (วันขึ้นปีใหม่ตามจันทรคติ) หรือวันชูซก (วันขอบคุณพระเจ้า)